วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

10 ชื่อยานอวกาศ ที่ประวัติศาสตร์ต้องจดจำ


10 ชื่อยานอวกาศ ที่ประวัติศาสตร์ต้องจดจำ


         
ยานอวกาศนับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นโดยเทคโนโลยี ซึ่งถึงแม้โครงการจะล้มเหลวไปหลายต่อหลายครั้งแต่ในที่สุดก็สามารถประสบความสำเร็จไปเยือนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก และจากจุดนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดอีกหลายโครงการต่าง ๆ ตามมา ทั้งแบบควบคุมโดยนักบินอวกาศ และควบคุมผ่านระบบสัญญาณจากพื้นโลก เพื่อไขปริศนาและความลับต่าง ๆ ที่มาที่ไปของจักรวาลแห่งนี้ ในวันนี้กระปุกดอทคอมจึงรวบรวม 10 ยานอวกาศที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการดาราศาสตร์ และยังคงเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงปัจจุบันมาฝากกันเริ่มจาก ...
1. ยานอพอลโล่ (Apollo 11)


          ยานอวกาศที่สร้างความตกตะลึงและกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก หลังจากสามารถจอดลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1969 ภายใต้การนำของนีล อาร์มสตรอง และลูกเรืออีก 2 คน ประกอบไปด้วย เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ หลังจากที่ผ่านการทดสอบโคจรรอบโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ยานอพอลโล่ 1 ในปี ค.ศ. 1967 จนกระทั่งถึงอพอลโล่ 17 ในปี ค.ศ. 1972 และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ยานอวกาศได้จอดลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนต่อจากนั้นต้องยกเลิกภารกิจไปด้วยสาเหตุหลายประการ จนกระทั่งโครงการถูกปิดตัวไปในที่สุด 
2. ยานวอยเอเจอร์ (Voyager)

          ภายใต้โครงการนี้ประกอบด้วย ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1 กับยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ยานอวกาศแฝดคู่นี้ถูกส่งขึ้นไปทำภารกิจพร้อมกันในปี ค.ศ. 1977 โดยลำแรกใช้ในการสำรวจเรื่องของชั้นบรรยากาศ สนามแม่เหล็ก ดวงจันทร์ และวงแหวนของดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ ส่วนลำที่สองเพิ่มระยะการเดินทาง เพื่อเก็บข้อมูลของดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนโดยเฉพาะ ซึ่งนับได้ว่าเป็นยานอวกาศคู่แฝดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดภายใต้ภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์ขององค์การนาซาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1979-1989 เลยก็ว่าได้

3. ยานไวกิ้ง (Viking)

          อีกหนึ่งความสำเร็จขององค์การนาซาในการสำรวจดาวเคราะห์ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการอพอลโล่ ซึ่งครั้งนี้เน้นการสำรวจดาวอังคารโดยเฉพาะ โดยการส่งยานไวกิ้ง 1 ขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1975 และยานไวกิ้ง 2 ในปีถัดมา โดยทั้งสองลำทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารมามากมายผ่านภาพสีที่ถูกถ่ายจากระยะไกล และพื้นผิวในระยะใกล้รวมกว่า 50,000 ภาพที่จัดได้ว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีในยุคนั้นเลยทีเดียว อีกทั้งตัวยานที่ออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานเพียง 90 วัน แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ กลับสามารถปฏิบัติภารกิจได้ยาวนานถึง 6 ปีกว่า พร้อมทั้งยังเป็นต้นแบบของการนำยานลงจอดโดยใช้ร่มชูชีพและเกราะป้องกันความร้อนอีกด้วย
 
 
 
 
4. ยานมาร์ส เอ็กซ์พลอเรชั่น โรเวอร์ (Mars Exploration Rover)

          ภารกิจในครั้งนี้เริ่มจากการส่งยาน MER-A และ MER-B หรือที่เรียกกันว่า ยานสปิริต และ ยานออปพอร์ทูนิตี้ ไปยังดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ. 2004 ซึ่งอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งหมดนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวยาน แต่กลับติดตั้งเอาไว้ในหุ่นยนต์ "โรเวอร์" และถูกส่งออกไปทำการสำรวจแทน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเพื่อค้นหาร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร แต่หลังจากภารกิจนี้ดำเนินอยู่หลายปี ในปี ค.ศ. 2009 ล้อของหุ่นยนต์โรเวอร์ กลับติดอยู่ในพื้นทรายบนดาวอังคาร จนต้องเปลี่ยนให้เป็นสถานีวิจัยคงที่แทน ก่อนที่จะสูญเสียการติดต่อเมื่อปี ค.ศ. 2010 เนื่องจากอาจเกิดความเสียหาย หรือเรียกว่าโหมดหลับลึก
5.  ยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ (Mars Global Surveyor)

          เป็นโครงการสำรวจดาวอังคาร ที่ส่งยานออกไปในเดือนพฤศจิกายน ของปี ค.ศ. 1996 เพื่อโคจรรอบดาวอังคาร พร้อมทั้งทำการสำรวจและถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารอย่างละเอียด เพื่อนำไปทำแผนที่ดาวอังคาร ตรวจชั้นบรรยากาศ และวัดค่าสนามแม่เหล็ก โดยได้เปิดเผยภาพถ่ายอย่างละเอียดของใบหน้าปริศนาบนดาวอังคาร ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้มีความลึกลับแต่อย่างใด เพราะเป็นแค่เพียงเนินเขาที่ถูกน้ำและลมกัดเซาะเพียงเท่านั้น โดยยานลำนี้สามารถส่งภาพจากพื้นผิวของดาวอังคารกลับมาได้มากถึง 240,000 ภาพ ดังนั้นจากเดิมที่เคยวางแผนโครงการเอาไว้แค่เพียง 2 ปี ก็ได้ถูกขยายภารกิจออกไปเป็น 4 ปี ควบคู่กับยานมาร์ส พาธ ไฟน์เดอร์
 
6. ยานแคสสินี (Cassini-Huygens)

          ยานอวกาศแคสสินี-ฮอยเกนส์ ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1997 ยานลำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากองค์การนาซาเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังได้ทำการร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรปและอิตาลีด้วย เพื่อออกสำรวจดาวเสาร์กับบริวารทั้ง 7 โดยเน้นไปที่การสำรวจบนไททัน ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงโคจร ซึ่งถือได้ว่าเป็นยานลำแรกที่ได้เข้าใกล้กับดาวเสาร์มากที่สุดนับตั้งแต่มีมาเลยก็ว่าได้ อีกทั้งโครงการนี้ยังอยู่ภายใต้การปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2017 เลยด้วย
7. ยานเมอร์คิวรี (Mercury Atlas)

          สิ่งที่ทำให้ยานอวกาศในโครงการเมอร์คิวรีนี้ เป็นที่จดจำนั้นไม่ใช่แค่การปรับขนาดห้องควบคุมในยานให้บรรจุได้แค่ที่นั่งเดียว แต่จุดประสงค์หลักนั้นแตกต่างออกไปด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบความสามารถในการดำเนินชีวิตกับการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของคนและสัตว์ในสภาพไร้น้ำหนัก ก่อนที่จะส่งมนุษย์และยานอวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลกจริง ๆ พร้อมกับยานเมอร์คิวรี-แอตลาส 6 (MA-6) ซึ่งผู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นคนแรกคือ นักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน จอห์น แอช เกลนน์ จูเนีย ที่ออกเดินทางในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1962 โดยสามารถโคจรรอบโลกรวมทั้งหมด 3 รอบใช้เวลา 4 ชั่วโมง 55 นาที 
8. ยานไพโอเนียร์ (Pioneer)

          โครงการยานอวกาศที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 จนกระทั่งสร้างปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการดาราศาสตร์ ด้วย ยานไพโอเนียร์ 10 และ 11 ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1972 และ ค.ศ. 1973 ตามลำดับ ซึ่งยานไพโอเนียร์ 10 นั้นสามารถถ่ายภาพในระยะใกล้ของดาวพฤหัสบดีกลับมาได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ยานไพโอเนียร์ 11 มีการส่งไปเก็บภาพของดาวเสาร์ ซึ่งทำให้ค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กอีก 2 ดวงและวงแหวนวงใหม่ของดาวเสาร์ด้วยในเวลาเดียวกัน
9. ดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik)

          ดาวเทียมดวงแรกของโลกภายใต้การดำเนินงานของรัสเซียที่ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957 โดยเริ่มจากดาวเทียมสปุตนิก 1 ที่สามารถโคจรรอบโลกได้นานถึง 92 วัน แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 96 วินาที ด้วยรูปร่างทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 58 เซนติเมตร น้ำหนัก 84 กิโลกรัม เพื่อทำการทดสอบการรับส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านชั้นบรรยากาศ และภายในปีเดียวกันรัสเซียก็ได้ส่ง ดาวเทียมสปุตนิก 2 ขึ้นไปพร้อมกับสุนัขอวกาศ ไลก้า ซึ่งสามารถโคจรอยู่เหนือพื้นผิวโลกได้สูงถึง 1,671 กิโลเมตร และไกลกว่าดาวเทียมสปุตนิก 1 เกือบสองเท่าตัว เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รัสเซียก้าวไกลกว่าผู้นำอย่างอเมริกาไปหลายขุม
10. ฮับเบิล (Hubble Space Telescope)

          ถึงแม้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจะไม่ใช่กล้องโทรทรรศน์ตัวแรกของโลก และโครงการนั้นก็มีอุปสรรคในระหว่างดำเนินการมากมาย แต่ในที่สุดองค์การนาซากับองค์การอวกาศยุโรปก็สามารถส่งฮับเบิลขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้เป็นผลสำเร็จในเดือนเมษายนของปี ค.ศ. 1990 และเนื่องด้วยความสามารถอันหลากหลายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ ก็ทำให้การศึกษาข้อมูลในแวดวงของดาราศาตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะพวกเขาค้นพบปรากฏการณ์สำคัญใหม่ ๆ มากมายจากภาพถ่ายความละเอียดสูง อาทิ การขยายตัวของเอกภพด้วยความเร่ง วัตถุที่อยู่นอกระบบสุริยะ กลุ่มก๊าซที่จะก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ใน เนบิวลานายพราน รวมไปถึงดาราจักรที่อยู่ไกลออกไปหลายพันล้านปีแสง เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นกล้องตัวแรกที่สามารถส่งคนขึ้นไปซ่อมบำรุงบนตัวยานได้อีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะมีการปลดระวางฮับเบิลในปี 2014 และส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ขึ้นไปแทนที่
          จากยานอวกาศทั้ง 10 โครงการที่นำมาฝากกันในวันนี้ถึงแม้จะมีภารกิจที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แต่ความสามารถและเป้าหมายหลักกลับไม่เหมือนกันเลยสักนิด เพราะต่างก็มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง ซึ่งส่งผลให้ยานอวกาศต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงเป็นที่กล่าวขานและสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่แน่ว่าปริศนาต่าง ๆ เรื่องที่มาที่ไปของจักรวาลรวมถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติอาจจะถูกเปิดเผยในเร็ว ๆ นี้ก็ได้